วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2561

พระอัครชายาเธอ ทั้ง3(ตระกูล ลดาวัลย์) ความรักที่จงรักภักดี



๑      พระอัครชายาเธอ    พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค 





พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอัครวรราชกัญญา ทรงเป็นพระเชษฐภคินี ( พี่สาว ) ของพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ และ พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ซึ่งมีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าบัว ประสูติ ณ วันอาทิตย์เดือน 12 แรม 6 ค่ำ ปีมะแม ตรงกับวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2390

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนา หม่อมเจ้าบัว เป็น พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอัครวรราชกัญญา ในปี พ.ศ. 2431 ดังมีคำประกาศเฉลิมพระยศไว้ว่า 

     ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาคล่วงแล้ว 2431 พรรษา ปัตยุบันกาล มุสิกสังวัจฉระ วิสาขมาส กาลปักษ์ทสมีดิถี โสรวาร ปริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯลฯ พระจุลจอมเกล้า ทรงพระราชดำริว่า พระอรรคชายาเธอ หม่อมเจ้าอุบลรัตนนารีนาค ได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณมาช้านานโดยความซื่อสัตย์สุจริตจงรักภักดีเป็นอันมาก มิได้มีระแวงผิดให้เป็นที่ขุ่นเคืองพระราชหฤทัย และเสื่อมเสียเกียรติยศแต่สักครั้งหนึ่งเลย ได้ดำรงพระยศเป็นพระอัครชายาเธอ มีพระเจ้าลูกเธอก็มิได้มีความกำเริบวุ่นวายด้วยยศศักดิ์ ประพฤติพระองค์สุภาพเรียบร้อยเหมือนพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ ซึ่งสิ้นพระชนม์ไปแล้วนั้น เพราะเหตุทั้งปวงอันได้กล่าวไว้ในคำประกาศเลื่อนพระนามพระอัครชายาเธอพระองค์ก่อน ก็เหมือนกันกับพระอัครชายาพระองค์นี้ จึงเป็นการสมควรที่จะทรงยกย่องพระเกียรติยศไว้ให้ตั้งอยู่ในตำแหน่งอันสูงศักดิ์เต็มตามที่สมควรนั้น

   จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งให้สถาปนาพระอัครชายาเธอ หม่อนเจ้าอุบลรัตนนารีนาคขึ้นเป็นพระองค์เจ้า มีพระนามในพระสุพรรณบัฎว่า พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค ให้ทรงศักดินา 20,000 ตามตำแหน่งพระอัครชายาเธอมีกรมในพระราชกำหนดใหม่ จงทรงพระเจริญพระชนมายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล วิบุลยศุภผลอดุลยเกียรติยศมโหฬารทุกประการ


 ให้ทรงตั้งเจ้ากรม เป็น กรมขุนอัครวรราชกัลยา ถือศักดินา 600


 ให้ทรงตั้งปลัดกรม เป็นหมื่นยุพาภักดี ถือศักดินา 500
 ให้ทรงตั้งสมุห์บัญชี เป็นหมื่นวาทีพลากร ถือศักดินา 300
ให้ผู้ซึ่งได้รับตำแน่งทั้ง 3 นี้ ทำราชการในหลวงและในกรมต่างอย่างธรรมเนียม เจ้ากรม ปลัดกรม สมุห์บาญชีในพระองค์เจ้าต่างกรมสืบไป ขอให้มีความสุขสวัสดิเจริญเทอญ

   พระตำหนักที่ประทับของพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอัครวรราชกัญญา ตั้งอยู่ทางด้านหน้าของพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ซึ่งอยู่ทางด้านหลังของสวนสวรรค์ซึ่งในปัจจุบันพระตำหนักที่ประทับของพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอัครวรราชกัญญา ไม่มีแล้วคาดว่าจะถูกรื้อลงเนื่องจากสภาพความชำรุดทรุดโทรมที่ยากจะซ่อมแซม


๒      พระอัครชายาเธอ    พระองค์เจ้าสาวภาคย์นารีรัตน์ 






พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ ในรัชกาลที่ ๕ หรือพระนามเดิม หม่อมเจ้าปิ๋ว ลดาวัลย์เป็นพระธิดาพระองค์รองในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลดาวัลย์ กรมหมื่นภูมินทรภักดี อันประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจีน เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๓๙๗
หม่อมเจ้าปิ๋ว ลดาวัลย์ เมื่อประสูติทรงประทับอยู่ที่วังของพระบิดา โดยมีกรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร (ทูลกระหม่อมแก้ว) ทรงเป็นผู้อภิบาล ทรงมีพระเชษฐภคินีและพระขนิษฐาที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจีน ๒ พระองค์ และได้ถวายพระองค์เป็นพระอรรคชายาเธอใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งสามพระองค์ คือ
หม่อมเจ้าบัว ลดาวัลย์ เมื่อเป็นพระมเหสี ทรงมีอิสริยศักดิ์เป็น พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค
หม่อมเจ้าสาย ลดาวัลย์ เมื่อเป็นพระมเหสี ทรงมีอิสริยศักดิ์เป็น พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์
หม่อมเจ้าปิ๋ว ลดาวัลย์ ทรงรับราชการฝ่ายในเป็นพระมเหสีทรงอิสริยศักดิ์เป็น พระอรรคชายาเธอ หม่อมเจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ ทรงมีพระราชธิดา ๑ พระองค์ คือ
เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร ประสูติในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ ต่อมาทรงเฉลิมพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ หรือ สมเด็จหญิงใหญ่
หม่อมเจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ ทรงเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูรมาก ถึงกับทรงตั้งพระทัยจะให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระอัครมเหสีทีเดียว แต่ว่าหม่อมเจ้าเสาวภาคยนารีรัตนมีพระพลานามัยไม่สู้จะสมบูรณ์นัก ประสูติพระราชธิดาพระองค์ ๑ แล้วก็ประชวรกระเสาะกระแสะเรื่อยมา จนกระทั่ง สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๐ พระองค์ได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศหลังจากสิ้นพระชนม์ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าออกพระนามว่า พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ ทรงศักดินา ๑๕๐๐๐ เสมอพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง ตามตำแหน่งพระอรรคชายาเธอ
ในปีนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสูญเสียพระอรรคชายาเธอ พระราชโอรส และพระราชธิดาถึง ๓ พระองค์ ในปีเดียวกัน คือ พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพชรุตม์ธำรงจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์ราชานุสรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ เพื่อระลึกถึงพระอรรคชายาเธอ พระราชโอรส และพระราชธิดาที่สิ้นพระชนม์ในปีเดียวกัน อนุสาวรีย์ราชานุสรณ์ทำด้วยหินอ่อนแกะสลักพระรูปเหมือนทั้ง 4 พระองค์ ตั้งอยู่ใกล้กับอนุสาวรีย์พระนางเรือล่ม ที่พระราชวังบางปะอิน


๓      พระอัครชายาเธอ    พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์
            (สมเด็จพระวิมาดาเธอ    กรมพระสุทธาสินีนาฏ    ปิยมหาราชปดิวรัดา)
ผู้ให้กำเนิด ราชสกุล ยุคล






พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ทรงมีฐานันดรศักด์เมื่อแรกประสูติว่า หม่อมเจ้าสาย เป็นพระธิดาในพระองค์เจ้าลดาวัลย์ กรมหมื่นภูมินทรภักดี และหม่อมจีนเป็นพระมารดา (หม่อมจีนนี้ต่อมาได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นเจ้าจอมมารดาจีนด้วยมีหลานดำรงพระอิสริยยศพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า) ประสูติเมื่อวันศุกร์ที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๖ เป็นพระธิดาองค์เล็กมี พระเชษฐภคินีร่วมพระมารดาอีก ๒ พระองค์ คือ หม่อมเจ้าบัว และหม่อมเจ้าปิ๋ว ซึ่ง ๓ พระองค์นี้ ผู้ที่คุ้นเคยออกพระนามเรียกว่า ท่านองค์ใหญ่ ท่านองค์กลาง และท่านองค์เล็ก ตามลำดับ

พระวิมาดาเธอฯ และพระเชษฐภคินีทั้ง ๒ พระองค์นี้ พระบิดาได้นำถวายตัวให้เป็นข้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ยังมิได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์ จึงต้องเข้ามาอยู่ในวังหลวง และได้อยู่ในพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสุดารัตนราชประยูร (ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร) จนกระทั่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการสนองพระเดชพระคุณสถาปนาขึ้นเป็นพระอรรคชายาเธอ หม่อมเจ้าสาย ส่วนพระเชษฐภคินีอีก ๒ พระองค์ ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระ อรรคชายาเธอ หม่อมเจ้าอุบลรัตนนารีนาค และพระอรรคชายาเธอ หม่อมเจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ และในปี พ.ศ. ๒๔๓๐ พระอรรคชายาเธอ หม่อมเจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริถึงพระจริยวัตรที่ทรงรับราชการฉลองพระเดชพระคุณมาด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ประพฤติพระองค์โดยความเรียบร้อยตราบจนสิ้นพระชนม์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้า มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ ส่วนพระวิมาดาเธอฯ นั้น ในปีต่อมาคือใน พ.ศ. ๒๔๓๑ ก็ได้รับพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้ดำรงพระอิสริยยศสูงขึ้นเช่นกัน 

ในส่วนของพระจริยวัตรของพระวิมาดาเธอฯ เองก็เป็นที่ประจักษ์และทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ทรงสนองพระเดชพระคุณในเรื่องสำคัญจนตลอดรัชกาล นั่นคือ ได้ทรงเป็นผู้กำกับห้อง เครื่องต้น ซึ่งทรงเชี่ยวชาญเป็นพิเศษทั้งคาวและหวาน และได้ทรงยึดถือพระภาระหน้าที่อันหนักนี้เป็นความรับผิดชอบโดยเต็มความสามารถ ดังนั้น ไม่ว่าจะเสด็จประพาส ณ ที่ใดก็จะโปรดให้พระวิมาดาเธอฯ ตามเสด็จ เพื่อประกอบพระกระยาหารถวายด้วยแทบทุกครั้ง

คำเลื่องลือในเรื่องความเป็นเลิศในการประกอบการครัวทั้งคาวและหวานดังกล่าวนี้ ทำให้พระตำหนักพระวิมาดาเธอฯ ได้รับการยกย่องเป็นประดุจสำนัก ซึ่งประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้สำหรับกุลสตรีชาววังในเรื่องสำรับคาวหวาน บรรดาข้าหลวงในสำนักนี้ได้ชื่อว่ามีความเชี่ยวชาญและฝีมือเป็นเลิศ ผู้ใดผ่านการอบรมในสำนักนี้แล้วย่อมเป็นที่ยกย่องกันว่า “ยอดเยี่ยม” ทุกคน 









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น