คุณหญิงสดับ หรือที่รู้จักในหมู่ชาววังคือ หม่อมราชวงศ์หญิงสดับ ลดาวัลย์ หญิงสาวราชนิกูลผู้นี้เข้าถวายตัวในตำแหน่งของเจ้าจอมในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เป็นเจ้าจอมพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนั้นท่านยังเป็นคนสุดท้ายที่ได้ร้องเพลง นางร้องไห้ และเจ้าจอมคนสุดท้ายของราชวงศ์จักรี
เมื่อท่านมีอายุได้ 11 ปี หม่อมยายได้พาท่านไปถวายตัวเป็นข้าหลวงใน ตำหนักพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ซึ่งพระองค์ได้ทรงอบรมเลี้ยงดูหม่อมราชวงศ์สดับในฐานะพระญาติ และยังโปรดให้เรียนหนังสือทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ รวมทั้งหัดงานฝีมือ ตลอดจนการอาหารคาวหวานจนเชี่ยวชาญ นอกจากความอัจฉริยภาพและความงามแล้ว ความมีเสียงอันไพเราะของท่าน ยังเป็นคุณสมบัติที่โดดเด่นด้วย
เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2449 หม่อมราชวงศ์สดับได้เข้าปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันนั้นคุณหญิงสดับได้รับพระราชทาน "กำไลมาศ" จากพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นกำไลทองคำแท้จากบางสะพานหนักสี่บาท ทำเป็นรูปตะปูสองดอกไขว้กัน ในขณะนั้น คุณหญิงสดับมีอายุเพียง 16 ปี และในวันนี้ถือว่าเป็นวันที่ท่านมีความสุขมากที่สุด ตลอดระยะเวลาในการเป็นข้าทูลละอองพระบาท คุณหญิงได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ จงรักภักดีหาที่สุดไม่ได้
ไม่นานนักพระเจ้าอยู่หัวก็โปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น พระสนมเอก อันเป็นตำแหน่งที่เจ้าจอมมารดาหลายๆ ท่านที่รับราชการมาช้านานก็ยังไม่ได้เป็นพระสนมเอก แต่คุณหญิงสดับซึ่งเป็นเพียงเด็กสาววัยรุ่น และเพิ่งเข้ามารับราชการเป็นเจ้าจอมกลับได้รับพระราชทานตำแหน่งที่สูงถึงเพียงนี้ ยิ่งก่อให้เกิดความอิจฉาริษยาจากคนรอบข้าง ด้วยวัยเพียง 17 ปีท่านจึงได้เล่าถึงความรู้สึกครั้งนั้นว่า
"...เหลียวไปไหนพบแต่ศัตรู คุณจอมท่านนั้นส่อเสียดว่าอย่างนั้น คุณจอมท่านนี้ว่าอย่างนี้ ตรองดูทีข้าพเจ้าจะย่อยยับแค่ไหน"ด้วยความอายุยังน้อย ขาดความยั้งคิด ท่านจึงตัดสินใจทำลายชีวิตตนเองด้วยการกินน้ำยาล้างรูปแต่ก็รักษารอดมาได้ "
แม้ว่าท่านจะถูกกลั่นแกล้งใส่ร้ายป้ายสีไปต่างๆนาๆแต่ก็มิเคยที่จะปริปากเพ็ดทูลสิ่งใดๆให้เป็นที่หนักพระทัยของพระเจ้าอยู่หัว จึงทำให้ไม่สามารถมีสิ่งใดมาทำลายความรักที่ท่านมีต่อ รัชกาลที่ 5 ได้ นับว่าท่านเป็นเจ้าจอมที่รัชกาลที่ 5 โปรดมากในเวลานั้น คุณหญิงสดับรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทด้วยความบริสุทธิ์ใจไม่เคยทูลขอพระราชทานทรัพสินมีค่าแต่อย่างใด ด้วยอุปนิสัยค่อนข้างจะเจียมเนื้อเจียมตัวอยู่ไม่น้อยจึงเป็นที่สนิทเสน่หามากขึ้นไปอีกถึงกับพระราชทานสิ่งของมีค่าให้อยู่เนืองๆ
เมื่อรัชกาลที่ 5 สวรรคต ในขณะนั้นคุณหญิงสดับมีอายุแค่เพียง 20 ปี ท่านจึงตัดสินใจสละสมบัติของมีค่าทุกอย่างที่เคยได้รับพระราชทานให้แก่สมเด็จพระพันปีหลวง เพื่อไม่ให้เกิดการครหาว่าท่านจะนำสมบัติไปปรนเปรอชายอื่น เนื่องจากนเวลานั้นตัวคุณหญิงสดับเองก็เปรียบเหมือนแม่หม้ายสาวสวยทรงเครื่องสมบัติชุดใหญ่แน่นอนว่าต้องเป็นที่สนใจของเหล่าภมรที่ต้องการจะดอมดม
ไม่นานนักคุณหญิงสดับจึงตัดสินใจหลบหลีกความวุ่นวายในราชสำนัก หาความสงบให้แก่จิตใจโดยการบวชชีจำวัดอยู่ที่วัดเขาบางทรายจังหวัดชลบุรี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระเจ้าอยู่หัวชายผู้เป็นที่รัก โดยมีกำไลมาศเพียงอย่างเดียวที่เหลือติดตัวของท่านไป ท่านได้ปฏิญาณตนอย่างแน่วแน่ว่าจะครองตนเป็นหม้ายโสดเพื่อรักษาเกียรติยศแห่งการเป็นพระสนมในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ตลอดชีวิต (เป็นเจ้าจอมคนสุดท้ายของราชวงศ์จักรีที่ยังดำรงชีพและถึงแก่อนิจกรรมในรัชกาลที่ 9)
นางอันเป็นที่รักในรัชกาลที่5
วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2561
เจ้าจอมก๊กออ(สกุลบุญนาค)
เจ้าจอมก๊กออทั้งห้า…
พระสนมคนโปรด ในล้นเกล้ารัชกาลที่ 5
เจ้าจอมพระสนมเอก ที่โปรดฯมาแต่แรกเริ่มรับราชการ เป็นที่ทราบกันว่า “ขึ้น” ไม่เคย “ตก” แต่ทั้งสองท่านไม่มีพระองค์เจ้า 2 ท่าน คือ เจ้าจอมเอี่ยม และเจ้าจอมเอิบ “ก๊กออ” ในสกุลบุนนาค เจ้าจอมเอี่ยมนั้นเป็นพนักงานถวายงานนวดซึ่งโปรดปรานว่ามีฝีมือไม่มีผู้เสมอเหมือน ส่วนเจ้าจอมเอิบเป็นพนักงานแต่งพระองค์
ภาพด้านล่าง เรียงตามลำดับ ซ้ายไปขวา
เจ้าจอมมารดาอ่อน เจ้าจอมเอี่ยม เจ้าจอมเอิบ เจ้าจอมอาบ และเจ้าเจ้าจอมเอื้อน
1. เจ้าจอมมารดาอ่อน
เข้าถวายตัวเป็นพระสนม เมื่อ พ.ศ. 2427 เมื่ออายุ 17 ปี ให้ประสูติพระราชธิดา 2 พระองค์คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา และยังมีพระเจ้าลูกเธอที่ตกพระโลหิต ยังไม่เป็นพระองค์ อีก 2 พระองค์2. เจ้าจอมเอี่ยม
มีฝีมือในการทำอาหาร ถวายงานนวดเข้าถวายตัวรับราชการฝ่ายในเมื่อ พ.ศ. 2429 เมื่ออายุได้ 13 ปี มีพระเจ้าลูกเธอที่ตกพระโลหิต ยังไม่เป็นพระองค์ จำนวน 2 พระองค์ เป็นผู้มีฝีมือในการทำอาหาร มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยทำเครื่องเสวยของพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ถวายงานนวดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเวลาเข้าที่พระบรรทม เป็นที่สบพระราชหฤทัย
3. เจ้าจอมเอิบ
สิริโฉมงดงาม สามารถใช้กล้อง ถ่ายรูป ล้างรูปได้เจ้าจอมเอิบ เข้าถวายตัวรับราชการฝ่ายในเมื่อ พ.ศ. 2434 เมื่ออายุได้ 12 ปี เนื่องจากเจ้าจอมเอิบนั้นเป็นผู้ที่มีสิริโฉมงดงาม กล่าวกันว่าท่านเจ้าจอมเอิบนั้นมีคุณสมบัติตรงตามตำราหญิงงามอันเป็นที่นิยมแห่งยุคสมัยนั้นทีเดียว กล่าวคือที่หน้าตาที่อ่อนหวาน งดงามเยือกเย็น กล่าวกันอีกว่าท่อนแขนของท่านเจ้าจอมเอิบ นั้นงดงามกลมกลึง ราวกับลำเทียน เนื่องจากท่านเป็นคนที่มีรูปร่างไม่ผอมไป หรืออ้วนเกินไป หากแต่อวบและมีน้ำมีนวล กล่าวโดยสรุปคือ ท่านเจ้าจอมเอิบนั้น มีความงามแห่งรูปโฉม และกิริยาที่สอดคล้องกับความนิยมในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก จึงเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพิเศษ ได้ตามเสด็จไปแปรพระราชฐาน ประพาสหัวเมืองเหนือ เมื่อ พ.ศ. 2444 หรือไปประทับที่พระราชวังบางปะอิน เมื่อ พ.ศ. 2445 และเสด็จประพาสต้นเมื่อ พ.ศ. 2447 เป็นผู้ถวายงานอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งสิ้นรัชกาล เช่นเดียวกับเจ้าจอมเอี่ยม ผู้เป็นพี่สาวแท้ๆ
เจ้าจอมเอิบ มีความสามารถในการใช้กล้องถ่ายภาพ สามารถถ่ายภาพ และล้างรูปได้ด้วยตัวเอง เป็นช่างภาพสมัครเล่นในราชสำนัก ซึ่งได้ถ่ายภาพพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระฉายาลักษณ์ของเจ้านายหลายพระองค์
4. เจ้าจอมอาบ
เข้าถวายตัวรับราชการฝ่ายใน เมื่อ พ.ศ. 2438 เมื่ออายุได้ 14 ปี มีหน้าที่ถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร่วมกับเจ้าจอมเอิบ และเจ้าจอมเอื้อน5. เจ้าจอมเอื้อน
ถ่ายภาพ ล้างรูป เล่นไวโอลินเป็นเจ้าจอมคนสุดท้องในเจ้าจอมก๊กออ เนื่องจากเจ้าจอมเอื้อนเป็นธิดาคนสุดท้อง เป็นที่รักใคร่ของเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์และท่านผู้หญิงอู่ และตั้งใจเลี้ยงดู ไม่ถวายตัวเข้าวังเช่นเดียวกับพี่ๆ แต่แล้วเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสเมืองเพชรบุรีทางชลมารค และเสด็จไปยังจวนของเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ และทรงพบกับเจ้าจอมเอื้อน ซึ่งขณะนั้นอายุได้ 17 ปี ทรงพอพระทัยในรูปโฉมที่งามพิลาส หลังจากนั้นเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ ท่านบิดา ได้นำตัวธิดาคนสุดท้อง ที่ตั้งใจจะให้อยู่ใกล้ชิด เข้าถวายตัวรับใช้ในราชการฝ่ายใน เป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เจ้าจอมเอื้อน เป็นผู้มีฝีมือในการถ่ายภาพ และมีความสามารถในการล้างรูป เช่นเดียวกับเจ้าจอมเอิบผู้พี่ อีกทั้งยังมีความสามารถในการเล่นไวโอลิน
เจ้าจอมก๊กออที่ถึงแก่อสัญกรรมเป็นลำดับท้ายสุดคือ เจ้าจอมมารดาอ่อน ที่ถึงแก่อสัญกรรมในรัชกาลปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2512 สิริอายุได้ 101 ปี
ย้อนอดีต! "รักแรกของพุทธเจ้าหลวง ร.๕ กับ เจ้าคุณจอมมารดาแพ" (เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ )
ในราวเดือน ๕ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ได้เสด็จไปประทับที่วังหน้าชั่วคราว และนำละครจากวังหลวงไปแสดงให้ชาววังหน้าได้ชม คืนนั้นจึงเป็นความบันเทิงของทั้งชาววังหลวงและวังหน้าที่ไม่ค่อยจะมีโอกาสได้เห็นแสงสี นอกจากจะมีงาน
ในงานนี้พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ในวัย ๑๔ พรรษาได้เสด็จไปดูละครด้วย แต่การแสดงบนเวทีไม่ทำให้พระองค์สนพระทัยมากไปกว่าสาวหน้าตาคมขำในวัยไล่เลี่ยกัน ซึ่งนั่งอยู่ใกล้กับคนบอกบทหน้าพลับพลาที่ประทับ
ละครลาโรงไปแล้ว แต่เจ้าฟ้าชายยังคงเฝ้าครุ่นคิดคำนึงถึงสาวน้อยผู้นั้น ซึ่งรู้แต่ว่ามากับพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี พระพี่นางต่างพระมารดา รอจนรุ่งเช้าจึงตรัสถามพระองค์โสมก็ทรงทราบว่า กุลสตรีผู้นั้นเป็นธิดาของพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) หลานปู่ของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เกิดที่เรือนแพริมคลองสะพานหัน จึงได้ชื่อว่า “แพ” บิดาส่งเข้ามาฝึกกิริยามารยาทในวัง และพักอยู่กับพระองค์โสม เจ้าฟ้าชายจึงขอให้พระพี่นางช่วยหาทางให้ได้ทอดพระเนตรอีกสักครั้ง ซึ่งพระองค์โสมก็รับจะนัดหมายให้
ฝ่ายคุณแพขณะนั้นอยู่ในวัย ๑๓ แม้เธอจะเห็นเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ทอดพระเนตรมาทางเธอบ่อยครั้ง แต่ก็ไม่คิดว่าเป้าหมายอยู่ที่ตัว เมื่อกลับไปพักบ้านในคืนนั้นก็เกิดนิมิตประหลาด ฝันว่ามีงูตัวใหญ่หัวเหมือนพระยานาค เกล็ดเหลืองทั้งตัว ตรงมาคาบที่กลางตัวเธอและพาไปทิ้งไว้ตรงหน้าเรือนเก่าที่เคยอยู่ รุ่งเช้าเมื่อไปเรือนพี่สาวคนโตที่เพิ่งแต่งงานจึงเล่าฝันให้ฟังตามซื่อ หลายคนที่ฟังต่างพากันหัวเราะครื้นเครง คุณแพก็ไม่เข้าใจ ฝันของเธอไม่เห็นมีเรื่องขำ แต่ทำไมเขาจึงพากันหัวเราะ
การที่คุณแพเข้าไปอยู่ในวังนั้น สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสืองานศพเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ หรือเด็กหญิงแพคนนั้นไว้ว่า เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ได้เล่าไว้เองที่เจ้าคุณปู่ได้ปรารภกับบิดาของท่านว่า ผู้ใหญ่ในตระกูลเคยถวายลูกหญิงทำราชการฝ่ายในมาทุกชั้นตั้งแต่เจ้าคุณพระอัยยิกานวลในรัชกาลที่ ๑ มาถึงท่านมีลูกสาวคนเดียวก็แต่งงานไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ แล้ว ไม่มีลูกจะถวายตามประเพณีตระกูล จึงขอตัวท่านถวายทำราชการฝ่ายในแทนลูกสักคนหนึ่ง บิดาของท่านไม่ขัดข้อง แต่เรียนเจ้าคุณปู่ว่า ตัวท่านนั้นตั้งแต่เกิดมาก็อยู่แต่ที่บ้าน กิริยามารยาทยังเป็นชาวนอกวัง จะส่งเข้าไปฝากเจ้าจอมมารดาเที่ยง พระสนมเอก ซึ่งชอบพอกันให้ฝึกอบรมก่อน เมื่อกิริยามารยาทเรียบร้อยแล้วจึงค่อยถวายตัว คุณปู่ก็เห็นชอบด้วย แต่ทว่าไม่มีใครบอกเรื่องนี้ให้ท่านทราบ
อยู่มาวันหนึ่ง บิดาของท่านปรารภกับท่านเปรยๆ ว่า
“แม่หนูโตแล้ว อยู่แต่กับบ้านก็จะเป็นคนเถื่อนไม่รู้จักขนมธรรมเนียมเข้าเฝ้าเจ้านายกับเขาบ้าง พ่อคิดจะส่งเข้าไปไว้ในวัง”
แล้วก็หันมาถามท่านว่า “อยากไปหรือไม่”
เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ก็ตอบว่า
“ดิฉันไม่อยากไปอยู่ในวัง ไม่เห็นจะสบายเหมือนอยู่กับบ้าน”
บิดาของท่านได้ฟังก็หัวเราะ แล้วบอกว่าให้เข้าไปอยู่ในวังก็เพราะตัวท่านต้องเป็นราชทูตไปฝรั่งเศส พี่สาวคนใหญ่ก็แต่งงานมีเหย้าเรือนไปแล้วไม่มีใครอยู่เป็นเพื่อน ทิ้งไว้ที่บ้านก็เป็นห่วง เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ก็ยังยืนคำที่ไม่สมัครใจจะเข้าไปอยู่ในวัง จนบิดาบอกให้เข้าใจว่า ไม่ใช่จะถวายตัวให้เข้าไปอยู่ในวังเลย เป็นแต่ส่งไปให้เจ้าจอมมารดาเที่ยงฝึกสอนกิริยามารยาท เมื่อกลับจากฝรั่งเศสแล้วก็จะรับกลับมาอยู่บ้านตามเดิม ท่านจึงจำใจยอมเข้าไปอยู่ในวัง
เจ้าจอมมารดาเที่ยงรับคุณแพไปอยู่ในตำหนักแล้วก็เกรงว่าจะอึดอัดที่ต้องเกรงใจท่านเสมอ จึงส่งไปให้อยู่กับพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี พระธิดาองค์ใหญ่ของท่าน ซึ่งเรียกกันว่า “พระองค์โสมใหญ่” ที่พระที่นั่งมูลมณเฑียร เพราะเห็นว่าอยู่ในวัยรุ่นราวคราวเดียวกัน พระองค์โสมพระชันษาแก่กว่า ๒ ปี อีกทั้งยังเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯโปรดใช้สอยพระราชธิดาองค์นี้อยู่เสมอ
พออยู่ด้วยกันไม่นาน พระองค์โสมกับคุณแพก็ชอบชิดสนิทสนมกัน พระองค์โสมใหญ่ทรงฝึกกิริยามารยาท และเมื่อเสด็จไปสมาคมฝ่ายในก็ให้ถือหีบหมากเสวยตามไปด้วย แต่คุณแพก็ไม่ได้อยู่ในวังตลอด เมื่อเวลามารดาคิดถึงก็ให้มารับไปอยู่บ้านบ้าง
เมื่อพระองค์โสมรับที่จะให้เจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ได้ทอดพระเนตรคุณแพอีกครั้ง แต่หนุ่มสาวในยุคนั้นก็ใช่ว่าจะมีโอกาสพบกันได้ง่ายๆ ต้องรอไปอีกจนถึงกลางเดือน ๖ วันวิสาขบูชา พระองค์โสมจึงชวนคุณแพไปดูเจ้านายเวียนเทียนกันที่วัดพระแก้ว แล้วให้พี่เลี้ยงพาไปนั่งที่บันไดหลังพระอุโบสถ เมื่อเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ทรงรู้ที่หมายแล้ว เมื่อเวียนเทียนผ่านไปถึงจุดนั้นก็เพ่งมองทุกรอบ จนคุณแพรู้ตัวและเกิดความรู้สึกประหลาดๆเมื่อสบพระเนตร
หลังคืนวันวิสาขบูชา เจ้าฟ้าชายก็กระซิบพระองค์โสมขอคุณแพ ซึ่งพระองค์โสมก็ไม่ขัดข้องยอมถวาย และยังตรัสบอกคุณแพด้วยว่าเจ้าฟ้าชายใคร่จะได้เป็นหม่อมห้าม เมื่อคุณแพได้รับทราบว่าตัวเองเป็นที่หมายปองเช่นนั้นก็นิ่งอยู่
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงนิพนธ์ตอนนี้ไว้ว่า
“...ตรงนี้คิดดูก็ชอบกล ถ้าหากเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ไม่รักพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เมื่อพระองค์ใหญ่โสมตรัสบอกให้รู้ตัว ก็คงบอกแก่ผู้ใหญ่ในสกุลให้มารับไปบ้านเสียให้พ้นภัย ที่รู้แล้วนิ่งอยู่ชวนให้เห็นว่าฝ่ายท่านก็เกิดรักใคร่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ตั้งแต่วันเดินเทียนวิสาขบูชาเหมือนกัน จึงเริ่มเรื่องติดพันกันมา...”
เมื่อตรัสขอแล้ว ๒-๓ วัน เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ก็โปรดให้พี่เลี้ยงชื่อ กลาง นำหีบน้ำหอมฝรั่งไปประทานคุณแพ ตอนนั้นน้ำหอมฝรั่งเพิ่งเข้ามาเมืองไทย เป็นที่นิยมกันมากในวงสังคมชั้นสูง เรียกกันว่าน้ำอบฝรั่ง หีบน้ำอบที่ประทานนั้นทำเป็น ๒ ชั้น เปิดฝาออกก็เห็นพระรูปฉายวางไว้ชั้นบน ส่วนชั้นล่างมีน้ำอบฝรั่ง ๒ ขวดกับสบู่หอมก้อนหนึ่งวางเรียงกัน เมื่อพระพี่เลี้ยงส่งให้คุณแพท่านไม่ยอมรับ คงเพราะเขิน แม้พระพี่เลี้ยงอ้อนวอนให้รับท่านก็ไม่ยอม จนพี่เลี้ยงของคุณแพที่ชื่อสุ่น ซึ่งพระองค์โสมประทานมา อดรนทนไม่ได้รับไว้แทน ต่อมาพระพี่เลี้ยงกลางกับพี่เลี้ยงสุ่นเลยเป็นแม่สื่อประสานงานกัน
ต่อมาพระพี่เลี้ยงกลางก็มาชวนคุณแพให้ไปดูซ้อมแห่โสกันต์พระเจ้าลูกเธอที่บริเวณสวนกุหลาบ ซึ่งเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ได้เสด็จมาคอยอยู่ที่นั่น ก็ได้พบกันเป็นครั้งแรก
ต่อมาเจ้าฟ้าชายรับสั่งให้พระองค์เจ้าชายกมลาสเลอสรรค์ พระอนุชาพระองค์โสม ไปรับคุณแพจากพระที่นั่งมูลมนเฑียรไปพบที่สวนกุหลาบอีก ครั้งนี้เจ้าฟ้าชายยื่นประทานน้ำอบฝรั่งขวดหนึ่งให้ด้วยพระองค์เอง แต่คุณแพอายไม่ยอมรับ จึงประทานให้พระองค์กมลาสฯช่วยส่งให้ คุณแพทำอิดๆเอื้อนๆ พระองค์กมลาสฯนึกว่ารับเลยปล่อย ผลก็คือขวดน้ำอบฝรั่งหล่นแตก ความผิดเลยมาลงที่พระองค์กมลาสฯ เมื่อทั้ง ๒ ฝ่ายต่างก็โกรธกริ้วพระองค์
ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์กับคุณแพซึ่งนัดพบกันอีกหลายครั้ง ล่วงรู้ไปถึงเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เจ้าคุณปู่เลยสั่งให้ท่านผู้หญิงอิ่ม มารดารับคุณแพกลับมาอยู่บ้านเสียเพื่อกันข้อครหา
เมื่อเจ้าฟ้าชายทรงทราบข่าวก็ตรัสให้พระพี่เลี้ยงกลางไปทูลพระองค์โสม ขอพบคุณแพอีกครั้งก่อนไป ซึ่งพระองค์โสมก็ให้นางสุ่นพี่เลี้ยงพาไป ซึ่งกรมพระยาดำรงฯ นิพนธ์ตอนนี้ไว้ว่า
“...เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ท่านเล่าว่า เมื่อพบกันเป็นแต่รันทดกำสรดโศก หาได้ปรึกษาหารือคิดอ่านกันอย่างไรไม่ แต่ส่วนตัวท่านเองเมื่อกลับออกไปอยู่บ้าน ได้ตั้งใจมั่นคงว่าจะมิให้ชายอื่นเป็นสามีเป็นอันขาด ถ้าหากผู้ใหญ่ในสกุลจะเอาไปยกให้ผู้อื่น ท่านก็จะหนีตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯมา จะเป็นอย่างไรก็ให้เป็นไป”
เมื่อคุณแพกลับไปอยู่บ้านแล้ว เจ้าฟ้าชายก็ได้แต่ทรงเศร้าโศก ไม่เป็นอันจะสรง จะเสวย หรือเข้าเฝ้าพระชนกนารถ จนสมเด็จกรมพระสุดารัตน์ราชประยูร ผู้อุปถัมภ์ค้ำชูมาตั้งแต่พระราชชนนีสิ้นพระชนม์ ก็ตกพระทัย เสด็จไปปรึกษากับเจ้าจอมมารดาเที่ยงว่าจะทำอย่างไร เจ้าจอมมารดาเที่ยงมีความรักใครเจ้าฟ้าชายมาแต่ทรงพระเยาว์เช่นกัน จึงไปที่ตำหนักสวนกุหลาบทูลปลอบว่าอย่าได้ทรงเป็นทุกข์ไปเลย จะไปกราบทูลพระราชบิดาให้สู่ขอมาพระราชทาน
เจ้าจอมมารดาเที่ยงทูลแล้วก็รีบไปทำตามที่ทูล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงสงสารพระราชโอรส จึงทรงหาโอกาสตรัสขอต่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ในที่รโหฐานก่อน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ก็ยอมถวาย จึงมีพระราชหัตถเลขาให้พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าโสมาวดีพร้อมกับท้าววรจันทร์และท้าวสมศักดิ์ เชิญไปถึงเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์อย่างเป็นทางการ สู่ขอคุณแพมาเป็นสะไภ้หลวง ซึ่งเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ก็ทูลถวายตามพระราชประสงค์ แต่ต้องคอยให้พระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ผู้บิดากลับมาจากยุโรปก่อน และหาฤกษ์เตรียมถวายตัว ซึ่งช่วงนี้เป็นเวลาหลายเดือน แต่เจ้าฟ้าชายและคุณแพก็ให้คนส่งของไปมาถึงกันได้โดยไม่มีใครขัดขวาง
จนเดือน ๑๐ พระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์กลับมา เข้าเดือน ๑๒ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงนำตัวคุณแพเข้าไปถวายตัวต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ แล้วพักอยู่กับเจ้าจอมมารดาเที่ยงจนถึงฤกษ์ที่จะพระราชทาน
ในวันพระราชทาน เจ้าจอมมารดาเที่ยงนำคุณแพขึ้นเฝ้ากราบถวายบังคมลา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพรและสิ่งของต่างๆ มีขันทองพร้อมพานทองรองขันสำรับหนึ่ง เงิน ๕ ชั่ง กับเครื่องนุ่งห่มแต่งตัวหีบหนึ่ง แล้วตรัสเรียกผ้าห่มเยียระบับสองชั้นมาพระราชทานเพิ่มอีกผืนหนึ่ง
สองทุ่มคืนนั้น เจ้าจอมมารดาเที่ยงกับเถ้าแก่ก็พาไปส่งตัวยังพระตำหนักสวนกุหลาบ เจ้าคุณพระประยูรวงศ์พรรณนาช่วงเวลานั้นว่า เดินออกทางประตูราชสำราญ เหมือนกับกระบวนแห่พระนเรศวร์ พระนารายณ์ มีคนถือเทียนนำหน้าและถือคบรายทางสองข้าง มีคนตามหลังเป็นพวกใหญ่ พวกชาววังก็พากันมานั่งดูแน่นทั้งสองข้างทาง ท่านอายจนแทบเดินไม่ได้
เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ไปอยู่พระตำหนักสวนกุหลาบได้ ๓ เดือนก็ทรงครรภ์ ต้องคิดหาที่จะคลอดพระหน่อ เพราะจะคลอดในวังไม่ได้ผิดราชประเพณี จะประสูติในพระบรมหาราชวังได้แต่พระราชโอรสธิดาของพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯจึงพระราชทานราชานุญาตให้สร้างตึกขึ้นใหม่ในสวนนันทอุทยานริมคลองมอญ ซึ่งทรงสร้างไว้เป็นที่เสด็จประพาส เมื่อเจ้าคุณพระประยูรวงศ์และเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ไปประทับรอคลอดที่นั่น กรมสมเด็จพระสุดารัตน์ฯก็เสด็จไปอยู่ด้วย ขณะนั้นเจ้าฟ้าชายมีหน้าที่ราชการมาก จึงต้องเสด็จข้ามฟากกลับไปในเวลาค่ำ บางวันน้ำในคลองแห้ง ก็ต้องไต่สะพานยาวไปตามริมคลอง
เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ทรงครรภ์อยู่ ๗ เดือนก็ประสูติ แต่ก็เกิดผิดปกติ พระกุมารคลอดออกมามีถุงห่อหุ้มอยู่ ซึ่งกรมพระยาดำรงฯทรงกล่าวถึงตอนนี้ไว้ว่า “เมื่อคลอดพระองค์ยังอยู่ในกระเพาะ” เข้าใจว่าน่าจะเป็นถุงน้ำคร่ำ หมอและพยาบาลพากันคิดว่าสิ้นพระชนม์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ให้หาหม้อขนันจะใส่ถ่วงน้ำตามประเพณี แต่เจ้าคุณตา พระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์อยากรู้ว่าเป็นพระองค์ชายหรือพระองค์หญิง จึงฉีกกระเพาะนั้นออกดู ก็เห็นยังหายพระทัยอยู่รู้ว่ามีพระชนม์ชีพ จึงช่วยกันประคบประหงมจนรอด
เมื่อพระหน่อประสูติได้ ๑๕ วัน เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ก็ต้องตามเสด็จพระชนกนาถไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่หว้ากอเป็นเวลา ๑๙ วัน เมื่อกลับมาเจ้าคุณพระประยูรวงศ์กับพระหน่อจึงกลับไปอยู่พระตำหนักสวนกุหลาบ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่หว้ากอครั้งนั้น ทั้งพระองค์เองและผู้ตามเสด็จได้รับเชื้อไข้ป่ามาหลายคน ที่ถึงตายก็มี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จกลับมาได้ ๕ วันก็ประชวร เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เสด็จไปพยาบาลอยู่ข้างพระที่ พอวันที่ ๒ สมเด็จพระชนกนาถยกพระหัตถ์ลูบพระพักตร์สัมผัสความร้อนผิดปกติ ก็ทรงทราบว่าพระราชโอรสประชวรไข้ป่าด้วยเหมือนกัน จึงดำรัสสั่งให้กลับไปรักษาพระองค์ที่พระตำหนักสวนกุหลาบ วันต่อมาไข้ยิ่งกำเริบขึ้นถึงขั้นประชวรหนัก ทั้งพระยอดมีพิษยังขึ้นที่พระศอ อาการเพียบถึงขั้นอันตราย พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่สั่งห้ามไม่ให้ทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯให้ทรงทราบอาการของพระราชโอรส ขณะเดียวกันก็สั่งปิดข่าวมิให้เจ้าฟ้าชายทรงทราบพระอาการของสมเด็จพระชนกนาถ ซึ่งต่างก็ประชวรหนักทั้งสองพระองค์ เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ต้องประสบความทุกข์ร้อนอย่างแสนสาหัส ด้วยพระธิดาก็ยังเป็นลูกอ่อน พระสวามีก็ประชวรหนัก ต้องเฝ้าดูแลทั้งสองทาง
หลังจากประชวรหนักอยู่ได้เดือนเศษ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคตในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๑๑ โดยมิได้แต่งตั้งรัชทายาทไว้ ทรงมอบให้พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางข้าราชการพิจารณากันเอง ส่วนเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์พระอาการทุเลาขึ้น แต่พระกำลังยังอ่อนแรงจนไม่สามารถทรงพระราชยานได้ ต้องเชิญเสด็จขึ้นประทับบนพระเก้าอี้หาม แห่จากพระตำหนักสวนกุหลาบไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม (หลังเดิม) ในพระบรมมหาราชวัง เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์อ่านบันทึกของที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางอัญเชิญเสด็จเสวยราชย์ให้ทรงทราบ แล้วหามพระเก้าอี้ไปยังพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ เพื่อจะทรงสักการะพระบรมศพอันเป็นหน้าที่ของรัชทายาทจะต้องทำก่อนพระราชกิจอื่น แต่พอพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นพระบรมศพสมเด็จพระบรมชนกนาถ ได้แต่ยกพระหัตถ์ขึ้นถวายบังคมเท่านั้น ก็ทรงสลบแน่นิ่งไป หมอประจำพระองค์แก้ไขจนฟื้น แต่ก็ไม่สามารถเคลื่อนพระองค์ลงจากพระเก้าอี้ได้ จึงตรัสแก่สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนบำราบปรปักษ์ ขอให้ทรงสักการะพระบรมศพแทนพระองค์ ขณะนั้นเจ้านายผู้ใหญ่เห็นว่าถ้าพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่นั่นต่อไปอาการประชวรอาจจะกลับกำเริบขึ้นอีก จึงสั่งให้หามพระเก้าอี้เชิญเสด็จไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ซึ่งจัดห้องในพระฉากไว้เป็นที่ประทับไปจนถึงกำหนดทำพิธีบรมราชาภิเษก
ส่วนทางพระตำหนักสวนกุหลาบ คุณแพซึ่งฐานะเปลี่ยนเป็นเจ้าจอมมารดา และพระธิดาซึ่งเปลี่ยนฐานะเป็นพระเจ้าลูกเธอ พร้อมด้วยกรมสมเด็จพระสุดารัตน์ราชประยูร ก็ย้ายเข้าไปอยู่ในพระราชวังในคืนนั้น กรมสมเด็จพระสุดารัตน์ฯกลับไปอยู่พระตำหนักเดิม เจ้าคุณพระประยูรวงศ์และพระราชธิดานั้น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ให้ไปอยู่เรือนเจ้าจอมมารดาผึ้ง ซึ่งคุ้นเคยกันจนกว่าจะมีตำหนัก เพราะขณะนั้นในวังหลวงกำลังชุลมุน ด้วยพระสนมในรัชกาลที่ ๔ แม้แต่พระสนมเอกอย่างเจ้าจอมมารดาเที่ยง ต่างก็หลุดพ้นตำแหน่งกันเป็นแถว สิ้นบุญเหมือนไฟดับ
การไปอยู่เรือนเจ้าจอมมารดาผึ้งนั้น ก็เพื่อให้พระเจ้าลูกเธอมีบ่าวไพร่ช่วยดูแล ส่วนเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ต้องไปอยู่ปฏิบัติพระเจ้าอยู่หัวและนอนค้างคืนอยู่ในห้องพระฉากที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย แม้แต่กรมสมเด็จพระสุดารัตน์ฯ ก็ต้องเสด็จไปอยู่ด้วยเสมอทุกวัน
พระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัยนั้นมีท้องพระโรง เป็นที่ทำราชการของฝ่ายหน้า เมื่อพระเจ้าอยู่หัวจำต้องมาประทับเพื่อทรงบำรุงพระกำลังที่ห้องในพระฉาก จึงต้องแบ่งเวลากันระหว่างฝ่ายหน้าและฝ่ายใน เมื่อถึงเวลาของฝ่ายหน้า ผู้หญิงก็กลับเข้าไปอยู่ในวัง ส่วนเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ก็กลับไปที่ตำหนัก เมื่อหมดเวลาของฝ่ายหน้า ฝ่ายในก็กลับเข้าประจำหน้าที่ตามเดิม จนถึงเดือน ๑๒ จึงได้ทำพิธีบรมราชาภิเษกแล้วเสด็จเข้าประทับในพระราชมณเฑียรฝ่ายใน
หลังพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ก็ประสบปัญหายุ่งยากใจพอควร ด้วยพระเจ้าอยู่หัวมีนักสนมนารีปฏิบัติบำเรอเป็นหมู่ใหญ่ ตัวท่านติดพระองค์มาเพียงคนเดียว ก็ต้องไปเข้ากลุ่มนั้น ทั้งยังมีท้าวนางบังคับบัญชาฝึกหัดระเบียบแบบแผนนางในใหม่ซึ่งนำระบบของรัชกาลที่ ๓ กลับมาใช้ ท่านฝึกอบรมมาแต่ระบบรัชกาลที่ ๔ ทั้งยังไม่เคยอยู่ในบังคับบัญชาของท้าวนางเหล่านั้นมาก่อน จึงเกิดความอึดอัดใจ ซึ่งท่านก็แก้ไขสถานการณ์ด้วยการกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวโดยตรงว่า พระองค์ท่านเป็นพระมหากษัตริย์ จะมีพระสนมมากเท่าใดท่านไม่เคยหึงหวง และไม่ปรารถนาจะมีอำนาจว่ากล่าวบังคับบัญชาผู้หนึ่งผู้ใด ขอแต่ได้สนองพระเดชพระคุณเหมือนอย่างครั้งอยู่พระตำหนักสวนกุหลาบเท่านั้นก็พอ
พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณา ตรัสห้ามมิให้ท้าวนางไปว่ากล่าวรบกวนคุณแพ แล้วทรงสร้างพระที่นั่งเย็นเป็นที่สำราญพระราชอิริยาบทขึ้นอีกหลังหนึ่งทางด้านตะวันออกของพระมหามณเฑียร ให้คุณแพคนเดียวเป็นผู้ปฏิบัติ นอกจากนั้นยังทรงพระกรุณาโปรดให้สร้างตำหนักหมู่ใหญ่ที่ด้านหลังพระราชมณเฑียร พระราชทานคุณแพอีกด้วย
จากนั้น เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ถือเป็นหน้าที่ของท่านที่จะต้องปฏิบัติต่อพระเจ้าอยู่หัวตามรายการคือ ในเวลาเช้าเมื่อตื่นบรรทม ท่านจะถวายเครื่องพระสำอางอย่างหนึ่งกับตั้งเครื่องพระกระยาหารต้มอีกอย่าง เมื่อเสวยเสร็จเสด็จออกจากห้องบรรทม ก็สิ้นหน้าที่ของท่านในตอนเช้า กลับลงไปตำหนักเสียครั้งหนึ่ง ถึงเวลากลางวันเมื่อนักสนมตั้งเครื่องเสวยและเสวยเสร็จแล้ว สิ้นคนเฝ้าแหน ท่านจึงขึ้นไปคอยรับใช้ในเวลาพักพระอิริยาบทอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเสด็จออกว่าราชการท่านก็กลับตำหนัก จนเวลากลางคืนเมื่อพระเจ้าอยู่หัวเข้าที่บรรทมแล้ว ท่านจึงเข้าไปนอนในห้องบรรทมอยู่จนเช้า ปฏิบัติภารกิจในตอนเช้าต่อไป นอกจากรายการนี้แล้วท่านจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับคนอื่น แต่เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปหัวเมืองครั้งใด คุณแพก็จะได้ตามเสด็จไปทุกครั้ง
ในสมัยนั้น เมืองไทยมีการติดต่อกับต่างประเทศมากขึ้น แต่ผมทรงมหาดไทยที่โกนรอบหัวไว้แต่ตรงกลางด้านบนและแสกออกสองข้างนั้น ดูเป็นตลกในสายตาของฝรั่ง เมื่อรัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสสิงคโปร์ ผู้ตามเสด็จรวมทั้งพระองค์เองก็ต้องเลิกตัดทรงมหาดไทยก่อนไป เอาไว้ยาวแบบฝรั่ง แต่พอกลับมาหลายคนก็กลับไปไว้ทรงมหาดไทยยอดฮิตอีก ทรงดำริว่าบ้านเมืองเจริญขึ้นมีฝรั่งเข้ามามาก ควรจะเลิกไว้ผมทรงมหาดไทยกันได้แล้ว แต่ก็ไม่จำต้องออกเป็นพระราชกำหนดกฎหมายบังคับ เพียงแต่พระองค์เองไม่ไว้พระเกศาทรงมหาดไทย และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ไว้ผมยาวเข้าเฝ้าได้ตามสมัครใจ ผู้ใหญ่ทั้งหลายก็เห็นชอบตามพระราชดำริ และมีผู้ไว้ผมยาวตามเสด็จจนทรงมหาดไทยหมดไป
แต่สำหรับผู้หญิงที่ไว้ทรง “ผมปีก” คล้ายทรงมหาดไทย เพียงแต่รอบหัวไม่ใช้โกน แค่ตัดเกรียน และไว้ “ไรจุก” เป็นเส้นรอบวงผมปีก กับไว้ผมเป็นพู่ตรงชายผมทั้งสองข้าง เรียกว่า “ผมทัด” เอาไว้สำหรับห้อยดอกไม้ ผู้หญิงต่างนิยมทรงนี้ ส่วนใหญ่จึงไม่ยอมเลิกไว้ทรงเดิมตามผู้ชาย คุณแพทูลรับอาสาไว้ผมยาวนำสมัยก่อน แรกๆก็ถูกค่อนแคะบ้าง พักเดียวพวกนางในก็เอาอย่าง จนผมปีกหายไปด้วยกันกับทรงมหาดไทย
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์นั้นยังทรงพระเยาว์ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงต้องรับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ จนใน พ.ศ. ๒๔๑๖ เมื่อทรงบรรลุนิติภาวะจะขึ้นว่าราชการเองแล้ว จึงได้เสด็จออกจากราชสมบัติไปทรงผนวชเป็นพระภิกษุที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเสด็จไปจำพรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหาร คุณแพได้กราบทูลขอพระราชทานพรให้ได้ตักบาตรถวายพอได้เห็นพระองค์ทรงผนวชเพียงสักครั้ง ฉะนั้นเมื่อเสด็จรับบาตรเจ้านายฝ่ายใน จึงมีแต่คุณแพคนเดียวในเหล่าสนมที่ได้รับอนุญาตให้ไปตักบาตร
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ตรัสเรียกพระสนมตามอย่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าว่า “นาง” เช่นเรียกเจ้าจอมมารดาเที่ยงว่า “นางเที่ยง” แต่ไม่ทรงเรียกเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ว่า “นางแพ” ถ้าตรัสเรียกด้วยพระองค์เองก็เรียกว่า “แม่แพ” ตรัสกับผู้อื่นก็เรียกว่า “คุณแพ” ส่วนพระราชินีจะตรัสสอนให้พระราชโอรสที่เป็นชั้นเจ้าฟ้า ตรัสเรียกคุณแพว่า “คุณป้า” ทุกพระองค์
ถ้าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหรือแปรพระราชสำนักไปที่ใด คุณแพก็จะตามเสด็จไปเป็นนิจ แต่เวลาอยู่ในกรุงเทพฯท่านจะไปเพียง ๓ แห่ง คือที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เพราะรักใคร่สนิทสนมกันมาแต่ยังเยาว์ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯก็ทรงเคารพนับถือ ตรัสเรียกท่านว่า “คุณพี่” ตลอดมา อีก ๒ แห่งที่ท่านไปก็คือบ้านของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ผู้ปู่ กับบ้านเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์กับท่านผู้หญิงอิ่มบิดามารดา ซึ่งเมื่อครั้งเป็นหม่อมอยู่พระตำหนักสวนกุหลาบ ถ้าจะไปเยี่ยมท่านผู้ใหญ่ทั้ง ๒ แห่งนั้น ท่านทูลลาพระเจ้าอยู่หัวแล้วไปบอกทางบ้านให้ท่านผู้ใหญ่ส่งเรือสำปั้นเก๋งมารับ ท่านก็ไปมากับบ่าวไพร่ตามลำพังเสมอ ครั้นมาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อท่านจะไปหาท่านผู้ใหญ่ครั้งแรก ท่านทูลลาแล้วบอกท้าวนางที่ในวัง ท้าวนางไปบอกกรมวัง กรมวังก็ออกหมายสั่งให้จัดเรือประเทียบ มีสนมกรมวัง จ่าโขลนห้อมล้อมเป็นหมู่ใหญ่จนน่ารำคาญ
ท่านกลับมาก็ทูลถามพระเจ้าอยู่หัวว่า เมื่อยังเป็นหม่อมเคยทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้ไปบ้านได้ตามลำพัง เดี๋ยวนี้เป็นเจ้าจอมไม่ไว้พระราชหฤทัยเหมือนแต่ก่อนหรือไร จึงต้องมีคนคุมไปเป็นกอง พระเจ้าอยู่หัวได้ฟังก็ทรงพระสรวล ดำรัสสั่ง
เจ้าคุณจอมมารดา (สกุลบุญนาค) ผู้เป็นรักแรกของพระพุทธเจ้าหลวง
เจ้าคุณจอมมารดาแพ ( เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ "รักแรกในรัชกาลที่๕)
เป็นดังพระสนมเอก ก็ว่าได้ มาจาก สกุลบุคนาค
เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (แพ) เกิดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2397 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) กับ ท่านผู้หญิงอิ่ม สุรวงศ์ไวยวัฒน์ (ท่านเจ้าพระยานั้นมีเอกภริยา 2 ท่านในเวลาเดียวกัน คือ ท่านผู้หญิงอ่วม พี่สาว และท่านผู้หญิงอิ่ม น้องสาว ท่านผู้หญิงทั้ง 2 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน) พี่น้องร่วมมารดาของท่าน มีดังนี้
คุณหญิงศรีสรราชภักดี (เล็ก โกมารกุล ณ นคร)
คุณฉาง บุนนาค
เจ้าคุณพระประยูรวงศ์
หลวงจักรยานานุพิจารณ์ (เหมา บุนนาค)
จ่ายวดยศสถิต (หมิว บุนนาค)
เจ้าจอมมารดาโหมด ในรัชกาลที่ 5
หม่อมแม้น ภาณุพันธ์ ในสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
คุณเมี้ยน บุนนาค
คุณมิด บุนนาค
เป็นเจ้าคุณจอมมารดาพระสนมเอกผู้ใหญ่ หัวหน้าพระสนมทั้งปวงในรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 6 ได้รับการสถาปนาเกียรติยศขึ้นเป็นเจ้าคุณชั้นพิเศษ โปรดเกล้าฯให้ออกนามว่า "เจ้าคุณพระประยูรวงศ์"
เจ้าคุณพระประยูรวงศ์เกิดในวงศ์ราชินิกุลสาย “บุนนาค” ซึ่งเจ้าคุณพระอัยยิกานวล กนิษฐภคินี ในสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี กับเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค ต้นสกุลบุนนาค) ซึ่งเป็นบุตรเจ้าพระยามหาเสนา (เสน) ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นตระกูล สืบสายลงมาทางสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง)พระประยูรวงศ์ได้เป็นพระสนมเอก และเป็นผู้เดียวที่ได้พระราชทานเครื่องยศพระสนมเอกตามแบบรัชกาลที่ 4 และมีพระราชประสงค์จะทรงยกย่องเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ให้ยิ่งกว่าคนอื่น จึงโปรดให้เปลี่ยนเครื่องในพานทองเครื่องยศ เป็นลงยาราชาวดี(เดิมเครื่องยศพระสนมเอกเป็นพานทองมีเครื่องในทั้งหมดล้วนเป็นทองคำเกลี้ยง ต้องเป็นพระมเหสีเท่านั้นจึงจะเปลี่ยนเป็นทองคำลงยาราชาวดี แสดงว่าทรงยกย่องเจ้าคุณพระประยูรวงศ์เหนือกว่านักสนมอื่นใด) และพระเจ้าอยู่หัวองค์ต่อ ๆ มาก็มิได้มีพระราชดำรัสให้เรียกคืนตามประเพณีเก่า ด้วยทรงเคารพนับถือเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ท่านจึงได้ครอบครองเครื่องยศทุกอย่างที่ได้รับพระราชทานจนตลอดอายุ ในการตรัสเรียกเจ้าคุณพระประยูรวงศ์นั้น รัชกาลที่ 5 จะมิโปรดเรียกว่า นาง ตามอย่าง รัชกาลที่ 4 พระราชบิดาแต่จะตรัสเรียกเมื่ออยู่ตามลำพังว่า แม่แพ แต่ถ้าอยู่ต่อหน้าผู้อื่นจะตรัสเรียกว่า คุณแพ
เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ เมื่อปัจฉิมวัย
เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ มีพระเจ้าลูกเธอ 3 พระองค์ คือ
พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ สุนทรศักดิกัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี ( 2411-2447 )
พระองค์เจ้าสุวพักตรวิไลพรรณ ( 2416-2473 )
พระองค์เจ้าบัณฑรวรรณวโรภาส ( 2418-2434 )
ท่านได้กราบถวายบังคมลาออกมาพำนัก ณ บ้านซึ่งได้รับพระราชทาน ณ ตำบลสามเสน จังหวัดพระนคร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2447 บ้านนั้นได้รับขนานนามว่า "สวนสุพรรณ" และท่านได้พำนักอยู่จนถึงแก่พิราลัย
ในบั้นปลายชีวิต ท่านได้ชีวิตไปกับการท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ เช่น ตราด จันทบุรี เชียงใหม่ เชียงราย และไปไกลถึงเมื่องบันดุง ชวา และ ปีนัง อินโดนีเซีย และที่ต้องไปประจำภายหลังรับรดน้ำสงกรานต์แล้ว คือที่อ่าวเกาะหลัก ประจวบคีรีขันธ์ เพราะท่านได้ไปปลูกบ้านตากอากาศไว้ที่นั่น
เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ถึงพิราลัย ขณะอายุได้ 89 ปีเศษ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ปี พ.ศ. 2486 ณ บ้านบรรทมสินธุ์ ตำบลเทเวศร์ กรุงเทพฯ
เจ้าคุณพระประยูรวงศ์
กรณียกิจ
กรณียกิจที่สำคัญของท่านเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ นอกจากในรัชกาลที่ 5 จะได้เป็นผู้นำในด้านการเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวภายในราชสำนักแล้ว ยังได้รับหน้าที่เป็นผู้เบิกพระโอษฐ์พระราชโอรส และ พระราชธิดา ในรัชกาลที่ 5 (หมายความว่า ท่านเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ได้เป็นผู้ที่ถวายน้ำนมจากหน้าอกของท่านเองแก่บรรดาพระราชโอรส-ธิดา เพื่อเป็นปฐมมงคล แต่เมื่อปลายรัชกาลเมื่อท่านมีอายุสูงขึ้นนั้นจนตลอดในรัชกาลที่ 6 น่าจะเป็นการถวายน้ำนมจากพระนมที่มีการคัดเลือกอย่างพิถีพิถันมากกว่าจะเป็นน้ำนมที่มาจากท่านเอง) หน้าที่นี้ท่านยังได้รับปฏิบัติสืบมาถึงรัชกาลที่ 6 คือได้เป็นผู้รับเบิกพระโอษฐ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นครั้งที่สุด
ในปี พ.ศ. 2484 เจ้าคุณพระประยูรวงศ์เมื่อวัยแก่ชราใกล้จะถึง 90 ปี นายกรัฐมนตรีประกาศชักชวนสตรีไทยให้เปลี่ยนเครื่องแต่งตัว เช่นเปลี่ยนตัดผมสั้นเป็นไว้ยาว เปลี่ยนนุ่งผ้าโจงกระเบนเป็นนุ่งถุง และให้ใส่เกือกใส่หมวกเป็นต้น รัฐบาลไทยได้ชวนเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ให้เป็นผู้นำสตรีที่มีบรรดาศักดิ์ให้เปลี่ยนแปลง ท่านก็ยินดีรับช่วยและเอาตัวของท่านเองออกหน้าเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวตามอย่างที่ต้องการ ก็มีผลให้ผู้อื่นปฏิบัติตามท่านอย่างคึกคัก ท่านจึงได้รับความเคารพนับถือจากรัฐบาลในสมัยนั้นและได้รับเชิญไปเข้าสมาคมและไปเป็นประธานในการให้รางวัลต่างๆต่อมาเนือง ๆ นอกจากนี้ยังได้บำเพ็ญกุศลอื่นๆ อีกในคราวฉลองอายุครบรอบ เช่น สร้างสุขศาลาเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ , บูรณะศาสนสถานต่างๆ ในวัดของบุรพชน ทั้งในและนอกจังหวัดพระนคร เป็นต้น
พระราชชายาจากเมืองเหนือ
พระราชชายา เจ้าดารารัศมี
พระประวัติ
ขณะทรงพระเยาว์
เจ้าดารารัศมี พระราชชายา มีพระนามเดิมว่า "เจ้าดารารัศมี" พระนามลำลองเรียกกันในครอบครัวว่า "เจ้าน้อย"[1] และในพระประยูรญาติว่า "เจ้าอึ่ง" ประสูติเมื่อวันอังคาร ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 8 ปีระกา (หากนับทางเหนือ เป็นเดือน 10) หรือตรงกับวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2416 เวลา 00.30 น.เศษ ณ คุ้มหลวงกลางเวียง นครเชียงใหม่ (ที่ตั้งของ "ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่หลังเดิม) เป็นพระธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์กับเจ้าทิพเกสร มีพระเชษฐภคินีร่วมพระอุทรหนึ่งพระองค์คือเจ้าจันทรโสภา
เมื่อทรงพระเยาว์ เจ้าดารารัศมีทรงพระอักษรทั้งฝ่ายล้านนา สยาม และภาษาอังกฤษ จนแตกฉาน ทั้งยังได้ทรงศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ จนนับได้ว่าทรงเป็นผู้รอบรู้ในด้านขนบประเพณีอันเก่าแก่เหล่านั้นดีที่สุดคนหนึ่งทีเดียว และโปรดการทรงม้าเป็นอย่างยิ่ง
เหตุแห่งการเสด็จเข้าวังหลวง
ในปี พ.ศ. 2426 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร (เวลานั้นดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำภาคพายัพ) ได้อัญเชิญพระกุณฑล (ตุ้มหู) และพระธำมรงค์เพชร ไปพระราชทานเป็นของเฉลิมพระขวัญแก่เจ้าดารารัศมี นัยว่าเป็นของทรงหมั้นนั่นเอง รวมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีโสกันต์ฯ พระราชทานเจ้าดารารัศมีตามแบบอย่างเจ้านายในราชวงศ์จักรีเป็นกรณีพิเศษ (ปล. แม่เจ้าเทพไกรสร พระมารดาได้สิ้นพระชนม์ล่วงลับไปในปี 2426 นี้เอง) คล้อยหลัง 3 ปี ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2429 (ตรงกับ วันพฤหัสบดี ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 3 ปีจอ อัฐศก จุลศักราช 1248) ในปี 2429 นั้น พระเจ้าอินทวิชยานนท์ได้เสด็จลงมายังกรุงเทพฯ เพื่อร่วมในพระราชพิธีลงสรง และสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เจ้าดารารัศมีได้โดยเสด็จพระบิดาลงมากรุงเทพฯ ในครั้งนี้ด้วย และได้รับราชการฝ่ายในเป็นเจ้าจอม ตำแหน่งพระสนมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเลยประทับอยู่ ณ กรุงเทพมหานครนับแต่นั้นมา
เหตุแห่งการเมืองไปสู่ความรักระหว่างสองพระองค์
เมื่อพระองค์เสด็จเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวัง พระบิดาได้ประทานเงินค่าตอไม้ (ค่าสัมปทานไม้สักในเขตแคว้นล้านนา ซึ่งตอนนั้นถือกันว่าป่าไม้สักทั้งหมดในดินแดนล้านนาเป็นของพระเจ้านครเชียงใหม่ทั้งสิ้น จะยกประทานแก่ผู้ใดก็ได้ ในกรณีนี้ทรงยกผลประโยชน์เป็นค่าสัมปทานประทานพระธิดา) เพื่อสร้างตำหนักขนาดใหญ่ขึ้นใหม่ในเขตพระราชฐานชั้นในในพระบรมมหาราชวังเพื่อเป็นที่ประทับของเจ้าจอมดารารัศมีและข้าหลวงในพระองค์ ในระหว่างที่ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ทรงดำรงพระองค์อย่างเรียบง่าย มิได้สนพระทัยต่อการถูกมองพระองค์ว่าเป็น "เจ้าหญิงเมืองลาว" แต่ประการใด ทรงให้ข้าหลวงในตำหนักแต่งกายด้วยผ้าซิ่นแบบล้านนา เหมือนเมื่อครั้งที่ยังประทับอยู่ ณ คุ้มหลวงนครเชียงใหม่ทุกประการ รวมทั้งโปรดให้ให้ศึกษาศิลปะดนตรีไทย ดนตรีสากล การขับร้อง และการฟ้อนรำ ทั้งนี้ เจ้าจอมดารารัศมีสามารถทรงเครื่องดนตรีได้หลากหลายชนิด แต่ที่โปรดและทรงได้ถนัดที่สุดคือจะเข้ เจ้าจอมดารารัศมี ยังทรงสนพระทัยในการถ่ายรูปซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ในสมัยนั้น นอกเหนือไปจากพระปรีชาสามารถด้านการทรงม้า
ขณะนั้นยังทรงเป็นเพียงเจ้าจอมพระสนม ยังไม่ได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้านายในราชวงศ์จักรี จนกระทั่งปี 2451 ที่เจ้าจอมมารดาดารารัศมีมีพระประสงค์จะเสด็จกลับไปเยือนนครเชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าจอมมารดาดารารัศมี ขึ้นเป็นพระมเหสีอีกพระองค์หนึ่ง ดำรงพระอิสริยยศ "พระราชชายา" และดำรงฐานันดรศักดิ์เจ้านายในราชวงศ์จักรีนับแต่นั้น ถึงแม้จะทรงศักดิ์เป็นพระมเหสีในตำแหน่งพระราชชายา แต่กระบวนเสด็จพระดำเนินสู่นครเชียงใหม่ครั้งนั้น รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดการพระราชทานอย่างเต็มตามโบราณราชประเพณีเสมอด้วยทรงครองพระอิสริยยศพระมเหสีในตำแหน่ง "พระอัครชายาเธอ" เลยทีเดียว ดังปรากฏความตามสำเนาพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานไปยังผู้ที่มีหน้าที่ในการจัดกระบวนเสด็จครั้งนั้นอย่างชัดเจน[ต้องการอ้างอิง]
ด้วยการดำรงพระองค์อย่างเรียบง่าย หากแต่แฝงไว้ด้วยพระปรีชาญาณ ความมุ่งมั่น และความเชื่อมั่นในพระองค์ กอปรกับความจงรักภักดีที่ทรงมีต่อพระบรมราชสวามี จึงเป็นที่โปรดปรานฯ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในที่สุดเจ้าดารารัศมี ซึ่งขณะนั้นยังทรงดำรงตำแหน่ง "เจ้าจอมดารารัศมี" ก็ทรงพระครรภ์ และมีพระประสูติกาลพระราชธิดา เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2432 ทรงพระนามว่าพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี (อ่านว่า วิ-มน-นาก-นะ-พี-สี) ในคราวนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่ง "เจ้าจอมดารารัศมี" ขึ้นเป็น "เจ้าจอมมารดาดารารัศมี"
พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี หรือพระนามเรียกขานในหมู่ข้าหลวงว่า "เสด็จเจ้าน้อย" เป็นที่โปรดปรานฯ ในพระราชบิดายิ่งนัก ด้วยทรงเป็นเจ้าหญิงพระองค์น้อยที่ฉลองพระองค์ซิ่นแบบเจ้านายเมืองเหนือตลอดเวลา เป็นที่น่าเสียดายว่า พระธิดามีพระชันษาเพียง 3 ปี 4 เดือน 18 วัน ก็สิ้นพระชนม์ลง เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2435 (ต่อมาทรงได้รับโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระนามพระอัฐิขึ้นเป็น "พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี" "พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี" และ "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี" ตามลำดับ)
การสิ้นพระชนม์ของพระราชธิดาในคราวนี้นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสียพระทัยยิ่งนัก ทรงมีรับสั่งกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวโทษพระองค์เองว่าทรงเสียพระทัยยิ่งนัก ที่ทรงมิได้สถาปนาพระยศพระราชธิดาให้เป็น "เจ้าฟ้า" ตามศักดิ์แห่งพระมารดาซึ่งเป็นเจ้าหญิงพระราชธิดาในพระเจ้าประเทศราช เป็นเหตุให้พระธิดาสิ้นพระชนม์ แต่สำหรับเจ้าจอมมารดาดารารัศมีแล้วนั้น ทรงเสียพระทัยอย่างที่สุด ไม่สามารถรับสั่งเป็นคำพูดได้ ทรงฉีกทำลายพระฉายาลักษณ์ที่พระบรมราชสวามีประทับร่วมอยู่กับพระองค์และพระราชธิดาเสียจนหมดสิ้น อย่างไรก็ตาม หลังจากทรงได้รับลายพระหัตถ์ จากพระบิดาที่ส่งมาประทานแล้ว ทำให้ทรงมีกำลังพระทัยดีขึ้นโดยลำดับ ต่อมาภายหลัง เจ้าจอมมารดาดารารัศมีมิได้มีพระประสูติกาลอีกเลย ทั้งที่โดยความจริงแล้วนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระทัยเอาไว้ก็ตาม ไม่ว่าจะอย่างไรเจ้าจอมมารดาดารารัศมีก็ยังทรงมุ่งมั่นรับใช้เบื้องพระยุคลบาทและถวายความจงรักภักดีต่อพระบรมราชสวามีอย่างหาที่สุดไม่ได้
พระราชชายา
พระราชชายา เจ้าดารารัศมี
พระราชชายา เจ้าดารารัศมี
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2451[2] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศ "เจ้าจอมมารดาดารารัศมี" ขึ้นเป็นเจ้านายในราชวงศ์จักรี มีตำแหน่งเป็นพระมเหสีพระองค์หนึ่งออกพระนามว่า "เจ้าดารารัศมี พระราชชายา" นับเป็นพระอิสริยยศในตำแหน่งพระมเหสีเทวีที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จึงนับได้ว่า "เจ้าดารารัศมี พระราชชายา" เป็นพระมเหสีลำดับที่ 5 ในเวลานั้น (ลำดับที่ 1-4 มีรายพระนามดังนี้ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี และพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ไม่นับสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอัครวรราชกัลยา และพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ สมเด็จพระอัครมเหสีพระองค์แรกและพระมเหสีทั้ง 2 พระองค์ที่สวรรคตและ สิ้นพระชนม์ไปก่อนหน้านั้นแล้ว)
พระกรณียกิจสำคัญ
พระราชชายาฯ มีพระกรณียกิจที่ทรงคุณเอนกอนันต์ต่อล้านนาและสยาม พอสังเขป ดังนี้
ทรงดำรงพระองค์เป็นศูนย์รวมดวงใจของข้าราชบริพารฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้
หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงกล่าวถึง พระราชชายาฯ ซึ่งทรงออกพระนามว่า "เจ้าป้า" ตอนหนึ่งว่า "ข้าพเจ้ารู้สึกทึ่งและประทับใจยิ่งนัก เวลาเห็นพระองค์ท่านประทับอยู่ในที่ว่าราชการ ท่ามกลางข้าราชการฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ จากที่เคยเห็นท่านดำรงพระองค์เรียบง่ายสงบคำเวลาประทับอยู่ในวังหลวง แต่ในที่นั่น พระองค์ท่านมีรับสั่งว่าราชการอย่างฉะฉาน เวลาตรัสกับข้าราชการฝ่ายเหนือก็ตรัสเป็นภาษาเหนือ เวลาตรัสกับข้าราชการฝ่ายใต้ก็ตรัสเป็นภาษาใต้ รับสั่งกลับไปกลับมาอย่างคล่องแคล่วยิ่งนัก เห็นได้ชัดว่าพระองค์ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของข้าราชการทุกหมู่เหล่าอย่างยิ่ง" นอกจากนั้น ยังทรงกล่าวตอนหนึ่งว่า "ฉันเคยพูดกับพวกฝรั่ง เขาว่านะว่า เจ้าเชียงใหม่ไม่เห็นจะทรงฉลาดซักเท่าไร เห็นจะมีแต่ พริ้นเซสออฟเชียงใหม่ ซึ่งหมายถึง พระราชชายาฯ นี่นะสิ ทรงฉลาดเหลือเกิน"
ทรงฟื้นฟูศิลปะด้านการแสดงล้านนา
ทรงส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเรื่องดนตรีพื้นเมือง และศิลปะการแสดงพื้นเมืองนั้น ด้วยมีพระนิสัยโปรดเล่นดนตรีไทย ตั้งแต่ครั้งประทับอยู่ใน พระบรมมหาราชวัง ซึ่ง วงดนตรีไทยประจำพระตำหนักของพระราชชายา นั้น มีกิตติศัพท์เลื่องลือไปทั่วฝ่ายใน เมื่อเสด็จมาประทับนครเชียงใหม่ โปรดให้รื้อฟื้นศิลปะการฟ้อนรำ การดนตรีพื้นเมืองทั้งหมด โปรดให้รวบรวมศิลปินล้านนาเก่าแก่มาเป็นบรมครูผู้ประสาทวิชาเพื่อสนับสนุนให้ความรู้แก่พระญาติและประชาชน รวมทั้งโปรดให้จัดการฝึกสอนขึ้นในพระตำหนัก พระญาติของพระองค์ต่อมาได้มีบทบาทในการสานต่อพระปณิธานดังกล่าว อาทิเช่น เจ้าเครือแก้ว ณ เชียงใหม่ ซึ่งต่อมาเป็นศิลปินแห่งชาติ และเจ้าสุนทร ณ เชียงใหม่ ผู้สืบทอดการผลิตเครื่องดนตรีและการเล่นดนตรีพื้นเมือง และทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพโปรดให้ครูช่างฟ้อนเมืองทุกแบบและฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตาในวังมาสอนนักเรียนด้วยเพื่อเป็นการสืบทอดมรดกทางนาฏศิลป์
ทรงฟื้นฟูศิลปะการทอผ้า
ทรงฟื้นฟูและส่งเสริมกิจการทอผ้าซึ่งเคยมีชื่อเสียงมาช้านานในล้านนา ได้ทรงรวบรวมผู้ชำนาญการทอผ้ายก ผ้าซิ่นตีนจก และฝึกสอนช่างทอ โดยสร้างโรงทอผ้าที่หลังตำหนักของพระองค์ มีกี่ทอผ้าประมาณ 20 หลัง ภายหลังพระญาติจากนครลำพูนได้มาศึกษาการทอผ้าซิ่นยกดอก และนำไปฝึกหัดคนในคุ้มหลวงที่ลำพูนจนมีความชำนาญ และได้สืบทอดต่อกันมาจวบจนปัจจุบัน กิจการด้านการทอผ้าได้แพร่หลายไปสู่หมู่ประชาชน จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญของเชียงใหม่และลำพูนมาตราบจนปัจจุบัน
ทรงสนับสนุนกิจการด้านการศึกษา
ทรงอุดหนุนการศึกษาของสงฆ์ และการศึกษาในโรงเรียนชายหญิงของนครเชียงใหม่ พระราชชายาฯ ได้ประทานที่ดินและทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้แก่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยและโรงเรียนดาราวิทยาลัย โดยเฉพาะโรงเรียนดาราวิทยาลัยนั้นแต่เดิมเรียกว่าโรงเรียนสตรี ภายหลังได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าโรงเรียนพระราชชายา และเปลี่ยนเป็นโรงเรียนดาราวิทยาลัย ตามพระนามของพระราชชายาฯ เมื่อ พ.ศ. 2452
ทรงสนับสนุนกิจการด้านพระศาสนา
นอกจากทรงอุดหนุนการศึกษาของสงฆ์แล้ว ทรงทำนุบำรุงศาสนา บูรณะวัดวาอารามต่างๆ มากมายทั่วนครเชียงใหม่ พระราชชายาฯ ได้ประทานที่ดินส่วนพระองค์อันเป็นที่ตั้งของ พระตำหนักม่อนจ๊อกป๊อก บนดอยสุเทพ ถวายแก่วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร นอกจากนั้น ได้ทรงรวบรวมพระอัฐิพระเจ้านครเชียงใหม่และแม่เจ้า มหาเทวีแต่ก่อนมาทุกพระองค์ กับทั้งอัฐิของพระราชวงศ์ฝ่ายเหนือทั้งปวงซึ่งเป็นพระประยูรญาติของพระองค์ มาบรรจุรวมกันไว้ ณ กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ ที่วัดสวนดอก (พระอารามหลวง)
ทรงส่งเสริมการเกษตรสมัยใหม่ ทรงริเริ่มการปลูกลำไย
พระราชชายาฯ ได้โปรดให้ใช้พระตำหนักดาราภิรมย์ ณ สวนเจ้าสบาย อำเภอแม่ริม เป็นแปลงทดลองการเกษตรส่วนพระองค์ขนาดใหญ่ โปรดให้เจ้าชื่น สิโรรส พระญาติสายราชวงศ์ทิพย์จักร มาดูแลควบคุมพัฒนาการเกษตร ทรงริเริ่มส่งเสริมการปลูกใบยาสูบเวอร์จิเนีย ใบชา ใบหม่อน ดอกไม้เมืองหนาว และกล้วยไม้ ทั่วนครเชียงใหม่และหัวเมืองใกล้เคียง นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงทดลองปลูกพืชใหม่ ๆ อยู่เสมอ เช่น ทรงทดลองปลูกกะหล่ำปลีสีม่วง แครอท แตงโมบางเบิด แคนตาลูป รวมทั้งลำไย ผลไม้ขึ้นชื่อของเชียงใหม่ในปัจจุบัน พระองค์ท่านก็ทรงนำมาปลูกเป็นพระองค์แรก ที่สำคัญ ทรงให้มีการศึกษาพัฒนาด้านการเกษตรอยู่เสมอ และทรงเน้นการให้ความรู้การเกษตรสมัยใหม่เข้าถึงประชาชนของพระองค์อย่างแท้จริง พระอัจฉริยะภาพและพระกรุณาธิคุณดังกล่าว ปรากฏให้เห็นถึงปัจจุบันที่ การปลูกใบชา ใบหม่อน กล้วยไม้ และลำไย กระจายอยู่ทั่วนครเชียงใหม่และเมืองใกล้เคียง ประชาชนต่างยึดถือเป็นอาชีพหลักสร้างรายได้เลี้ยงครัวเรือน
ประทานนามกุหลาบพันธุ์หนึ่ง ถวายแด่พระบรมราชสวามีว่า "จุฬาลงกรณ์"
พระราชชายาฯ ทรงเป็นเจ้านายสตรีชั้นนำของประเทศ ทรงเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของราชสมาคมกุหลาบแห่งประเทศอังกฤษ ทรงริเริ่มและสนับสนุนการปลูกกุหลาบทั่วนครเชียงใหม่ และหัวเมืองใกล้เคียง ภายหลังทรงพบกุหลาบขนาดใหญ่พันธุ์หนึ่ง ซึ่งมีสีชมพูระเรื่อ ส่งกลิ่นหอมตลอดเวลา ทำให้ทรงหวนระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว จึงได้ประทานนามกุหลาบพันธ์นั้นตามพระนามในพระบรมราชสวามีว่า "จุฬาลงกรณ์" พระราชชายาฯ โปรดให้สร้างแปลงเพาะพันธุ์บน พระตำหนักม่อนจ๊อกป๊อก บนดอยสุเทพ ซึ่งมีอากาศเย็นทั้งปี เมื่อเสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักดาราภิรมย์ ในช่วงปลายพระชนม์ชีพ ก็โปรดให้ปลูกกุหลาบจุฬาลงกรณ์โดยรอบพระตำหนัก และทรงตัดดอกถวายสักการะพระบรมราชสวามี ซึ่งต่อมาภายหลังสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำกุหลาบจุฬาลงกรณ์มาเพาะพันธุ์และโปรดให้ปลูกประดับโดยรอบพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์
พระอัครชายาเธอ ทั้ง3(ตระกูล ลดาวัลย์) ความรักที่จงรักภักดี
๑ พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค
พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอัครวรราชกัญญา ทรงเป็นพระเชษฐภคินี ( พี่สาว ) ของพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ และ พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ซึ่งมีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าบัว ประสูติ ณ วันอาทิตย์เดือน 12 แรม 6 ค่ำ ปีมะแม ตรงกับวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2390
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนา หม่อมเจ้าบัว เป็น พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอัครวรราชกัญญา ในปี พ.ศ. 2431 ดังมีคำประกาศเฉลิมพระยศไว้ว่า
ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาคล่วงแล้ว 2431 พรรษา ปัตยุบันกาล มุสิกสังวัจฉระ วิสาขมาส กาลปักษ์ทสมีดิถี โสรวาร ปริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯลฯ พระจุลจอมเกล้า ทรงพระราชดำริว่า พระอรรคชายาเธอ หม่อมเจ้าอุบลรัตนนารีนาค ได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณมาช้านานโดยความซื่อสัตย์สุจริตจงรักภักดีเป็นอันมาก มิได้มีระแวงผิดให้เป็นที่ขุ่นเคืองพระราชหฤทัย และเสื่อมเสียเกียรติยศแต่สักครั้งหนึ่งเลย ได้ดำรงพระยศเป็นพระอัครชายาเธอ มีพระเจ้าลูกเธอก็มิได้มีความกำเริบวุ่นวายด้วยยศศักดิ์ ประพฤติพระองค์สุภาพเรียบร้อยเหมือนพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ ซึ่งสิ้นพระชนม์ไปแล้วนั้น เพราะเหตุทั้งปวงอันได้กล่าวไว้ในคำประกาศเลื่อนพระนามพระอัครชายาเธอพระองค์ก่อน ก็เหมือนกันกับพระอัครชายาพระองค์นี้ จึงเป็นการสมควรที่จะทรงยกย่องพระเกียรติยศไว้ให้ตั้งอยู่ในตำแหน่งอันสูงศักดิ์เต็มตามที่สมควรนั้น
จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งให้สถาปนาพระอัครชายาเธอ หม่อนเจ้าอุบลรัตนนารีนาคขึ้นเป็นพระองค์เจ้า มีพระนามในพระสุพรรณบัฎว่า พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค ให้ทรงศักดินา 20,000 ตามตำแหน่งพระอัครชายาเธอมีกรมในพระราชกำหนดใหม่ จงทรงพระเจริญพระชนมายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล วิบุลยศุภผลอดุลยเกียรติยศมโหฬารทุกประการ
ให้ทรงตั้งเจ้ากรม เป็น กรมขุนอัครวรราชกัลยา ถือศักดินา 600
ให้ทรงตั้งปลัดกรม เป็นหมื่นยุพาภักดี ถือศักดินา 500
ให้ทรงตั้งสมุห์บัญชี เป็นหมื่นวาทีพลากร ถือศักดินา 300
ให้ผู้ซึ่งได้รับตำแน่งทั้ง 3 นี้ ทำราชการในหลวงและในกรมต่างอย่างธรรมเนียม เจ้ากรม ปลัดกรม สมุห์บาญชีในพระองค์เจ้าต่างกรมสืบไป ขอให้มีความสุขสวัสดิเจริญเทอญ
พระตำหนักที่ประทับของพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอัครวรราชกัญญา ตั้งอยู่ทางด้านหน้าของพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ซึ่งอยู่ทางด้านหลังของสวนสวรรค์ซึ่งในปัจจุบันพระตำหนักที่ประทับของพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอัครวรราชกัญญา ไม่มีแล้วคาดว่าจะถูกรื้อลงเนื่องจากสภาพความชำรุดทรุดโทรมที่ยากจะซ่อมแซม
๒ พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสาวภาคย์นารีรัตน์
พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ ในรัชกาลที่ ๕ หรือพระนามเดิม หม่อมเจ้าปิ๋ว ลดาวัลย์เป็นพระธิดาพระองค์รองในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลดาวัลย์ กรมหมื่นภูมินทรภักดี อันประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจีน เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๓๙๗
หม่อมเจ้าปิ๋ว ลดาวัลย์ เมื่อประสูติทรงประทับอยู่ที่วังของพระบิดา โดยมีกรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร (ทูลกระหม่อมแก้ว) ทรงเป็นผู้อภิบาล ทรงมีพระเชษฐภคินีและพระขนิษฐาที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจีน ๒ พระองค์ และได้ถวายพระองค์เป็นพระอรรคชายาเธอใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งสามพระองค์ คือ
หม่อมเจ้าบัว ลดาวัลย์ เมื่อเป็นพระมเหสี ทรงมีอิสริยศักดิ์เป็น พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค
หม่อมเจ้าสาย ลดาวัลย์ เมื่อเป็นพระมเหสี ทรงมีอิสริยศักดิ์เป็น พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์
หม่อมเจ้าปิ๋ว ลดาวัลย์ ทรงรับราชการฝ่ายในเป็นพระมเหสีทรงอิสริยศักดิ์เป็น พระอรรคชายาเธอ หม่อมเจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ ทรงมีพระราชธิดา ๑ พระองค์ คือ
เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร ประสูติในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ ต่อมาทรงเฉลิมพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ หรือ สมเด็จหญิงใหญ่
หม่อมเจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ ทรงเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูรมาก ถึงกับทรงตั้งพระทัยจะให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระอัครมเหสีทีเดียว แต่ว่าหม่อมเจ้าเสาวภาคยนารีรัตนมีพระพลานามัยไม่สู้จะสมบูรณ์นัก ประสูติพระราชธิดาพระองค์ ๑ แล้วก็ประชวรกระเสาะกระแสะเรื่อยมา จนกระทั่ง สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๐ พระองค์ได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศหลังจากสิ้นพระชนม์ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าออกพระนามว่า พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ ทรงศักดินา ๑๕๐๐๐ เสมอพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง ตามตำแหน่งพระอรรคชายาเธอ
ในปีนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสูญเสียพระอรรคชายาเธอ พระราชโอรส และพระราชธิดาถึง ๓ พระองค์ ในปีเดียวกัน คือ พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพชรุตม์ธำรงจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์ราชานุสรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ เพื่อระลึกถึงพระอรรคชายาเธอ พระราชโอรส และพระราชธิดาที่สิ้นพระชนม์ในปีเดียวกัน อนุสาวรีย์ราชานุสรณ์ทำด้วยหินอ่อนแกะสลักพระรูปเหมือนทั้ง 4 พระองค์ ตั้งอยู่ใกล้กับอนุสาวรีย์พระนางเรือล่ม ที่พระราชวังบางปะอิน
๓ พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์
(สมเด็จพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา)
ผู้ให้กำเนิด ราชสกุล ยุคล
พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ทรงมีฐานันดรศักด์เมื่อแรกประสูติว่า หม่อมเจ้าสาย เป็นพระธิดาในพระองค์เจ้าลดาวัลย์ กรมหมื่นภูมินทรภักดี และหม่อมจีนเป็นพระมารดา (หม่อมจีนนี้ต่อมาได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นเจ้าจอมมารดาจีนด้วยมีหลานดำรงพระอิสริยยศพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า) ประสูติเมื่อวันศุกร์ที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๖ เป็นพระธิดาองค์เล็กมี พระเชษฐภคินีร่วมพระมารดาอีก ๒ พระองค์ คือ หม่อมเจ้าบัว และหม่อมเจ้าปิ๋ว ซึ่ง ๓ พระองค์นี้ ผู้ที่คุ้นเคยออกพระนามเรียกว่า ท่านองค์ใหญ่ ท่านองค์กลาง และท่านองค์เล็ก ตามลำดับ
พระวิมาดาเธอฯ และพระเชษฐภคินีทั้ง ๒ พระองค์นี้ พระบิดาได้นำถวายตัวให้เป็นข้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ยังมิได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์ จึงต้องเข้ามาอยู่ในวังหลวง และได้อยู่ในพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสุดารัตนราชประยูร (ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร) จนกระทั่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการสนองพระเดชพระคุณสถาปนาขึ้นเป็นพระอรรคชายาเธอ หม่อมเจ้าสาย ส่วนพระเชษฐภคินีอีก ๒ พระองค์ ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระ อรรคชายาเธอ หม่อมเจ้าอุบลรัตนนารีนาค และพระอรรคชายาเธอ หม่อมเจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ และในปี พ.ศ. ๒๔๓๐ พระอรรคชายาเธอ หม่อมเจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริถึงพระจริยวัตรที่ทรงรับราชการฉลองพระเดชพระคุณมาด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ประพฤติพระองค์โดยความเรียบร้อยตราบจนสิ้นพระชนม์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้า มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ ส่วนพระวิมาดาเธอฯ นั้น ในปีต่อมาคือใน พ.ศ. ๒๔๓๑ ก็ได้รับพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้ดำรงพระอิสริยยศสูงขึ้นเช่นกัน
ในส่วนของพระจริยวัตรของพระวิมาดาเธอฯ เองก็เป็นที่ประจักษ์และทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ทรงสนองพระเดชพระคุณในเรื่องสำคัญจนตลอดรัชกาล นั่นคือ ได้ทรงเป็นผู้กำกับห้อง เครื่องต้น ซึ่งทรงเชี่ยวชาญเป็นพิเศษทั้งคาวและหวาน และได้ทรงยึดถือพระภาระหน้าที่อันหนักนี้เป็นความรับผิดชอบโดยเต็มความสามารถ ดังนั้น ไม่ว่าจะเสด็จประพาส ณ ที่ใดก็จะโปรดให้พระวิมาดาเธอฯ ตามเสด็จ เพื่อประกอบพระกระยาหารถวายด้วยแทบทุกครั้ง
คำเลื่องลือในเรื่องความเป็นเลิศในการประกอบการครัวทั้งคาวและหวานดังกล่าวนี้ ทำให้พระตำหนักพระวิมาดาเธอฯ ได้รับการยกย่องเป็นประดุจสำนัก ซึ่งประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้สำหรับกุลสตรีชาววังในเรื่องสำรับคาวหวาน บรรดาข้าหลวงในสำนักนี้ได้ชื่อว่ามีความเชี่ยวชาญและฝีมือเป็นเลิศ ผู้ใดผ่านการอบรมในสำนักนี้แล้วย่อมเป็นที่ยกย่องกันว่า “ยอดเยี่ยม” ทุกคน
พระภรรยาเจ้า (ตระกูลบุญนาค) ความรักที่สุขุมของพระนาง
สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี (สมเด็จพระปิตุฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี)
ผู้ให้กำเนิดตระกูล บริพัตร
พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระราชเทวี(ประทับขวา) พระมารดา(ทรงนั่ง) พระกนิษฐา(ทรงยืน)
ประสูติ
ทรงเป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 52 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาสำลี ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น
"พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี"
เมื่อครั้ง รัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี ในฐานะพระขนิษฐภคินี ทรงเปลี่ยนพระฐานะจาก พระเจ้าลูกเธอ เป็น
"พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี"
พระมเหสีในรัชกาลที่ 5
เมื่อมีพระชนมายุได้ประมาณ 17 พรรษา ทรงเป็นเจ้านายชั้น "ลูกหลวง" ที่ได้ถวายตัวเป็นพระมเหสี ในรัชกาลที่ 5 และภายหลังทรงมีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ จึงได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาเป็น "พระนางเธอ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี" ทรงรับพระราชทานเครื่องอิสริยยศราชูปโภคลงยาราชาวดี นับว่าเป็น "พระมเหสีพระองค์แรก" ที่มีการเฉลิมพระนามและพระอิสริยยศอย่างเป็นทางการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
หลังจากพระองค์มีพระประสูติกาล สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระองค์ทรงได้รับการเลื่อนพระยศเป็น "พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี" และทรงดำรงฐานันดรศักดิ์นี้จนสิ้นรัชกาล โดยพระองค์มีพระฐานะเป็นพระมเหสีลำดับสาม รองจากสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ และ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี
พระราชโอรส/ธิดา
1.สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร
2.สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เมื่อสิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ 5 พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ ก็ทรงเป็นเช่นเดียวกันกับกับพระมเหสีเทวีพระองค์อื่นๆ คือ โศกสลด และปลีกพระองค์ออกจากพระบรมมหาราชวังมานับตั้งแต่นั้น ได้เสด็จออกมาประทับที่วังบางขุนพรหมซึ่งรัชกาลที่ 5 พระราชทานให้เป็นวังที่ประทับของพระราชโอรส คือ สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ แต่เนื่องจากทรงเป็นเจ้านายฝ่ายในที่ดำรงพระอิสริยยศสูง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมโขลน และกรมวังจัดคนส่วนหนึ่งมาปฏิบัติถวายการรับใช้อยู่ที่วังนั้น เสมือนหนึ่งยังคงประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังทุกประการ
ในรัชกาลที่ 6 ทรงเลื่อนพระอิสริยยศพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวีในรัชกาลที่ 5 ขึ้นเป็น "สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี" ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระอิสริยยศของพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวีในรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นพระมเหสีลำดับสาม จึงมีพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ พระอัครราชเทวีในรัชกาลที่ 7 นับว่าได้มีพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 5 อีกพระองค์หนึ่งเช่นเดียวกันกับสมเด็จพระอัครมเหสีอีก 3 พระองค์ในรัชกาลที่ 5
สิ้นพระชนม์
สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคพระปับผาสะ (ปอด) พิการในรัชกาลที่ 7 เมื่อวันเสาร์ ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2470 ณ ตำหนักสมเด็จ วังบางขุนพรหม พระชนมายุ 66 พรรษา
พระศพอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง พระราชทานพระเกียรติยศถวายไว้อาลัย 100 วัน
งานพระราชทานเพลิงพระศพจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธาน ณ พระเมรุท้องสนามหลวง พระราชทานเพลิงพระศพ “ พระมเหสีพระองค์แรก ในรัชกาลที่ 5 ”
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)